ทั้งหมด

       ตามที่กองนโยบายแห่งชาติด้านยาได้มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการยาขาดแคลนแบบบูรณาการ โดยให้สถานพยาบาลซึ่งเป็นผู้ใช้ยา และบริษัทยาทั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้าแจ้งสถานการณ์การขาดแคลนยามายังกองนโยบายแห่งชาติด้านยา ซึ่งเป็นหน่วยงานในการประสาน รับเรื่อง ตรวจสอบข้อมูล พิจารณาแนวทางแก้ไข ประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งติดตามและเฝ้าระวังปัญหาการขาดแคลนยาในประเทศ                     ในการนี้ กองนโยบายแห่งชาติด้านยา จึงขอประชาสัมพันธ์รายการยาที่มีปัญหาขาดแคลนรายเดือน ณ มกราคม 2566  จำนวน 27 รายการ เป็นรายการการยาที่อยู่ในสถานะยังขาดแคลน (Currently in shortage) จำนวน 8 รายการ สถานะอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข (In process) จำนวน 14 รายการ  เป็นยาที่อยู่ในสถานะแก้ไขเสร็จแล้ว (Resolved) จำนวน 5 รายการ ยาขาดแคลนที่ประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ หมายถึง ยาที่มีความจำเป็นและส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันปริมาณ Supply ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ยาและ/หรือไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาในการกลับมาจำหน่ายเป็นปกติได้ สาเหตุการขาดแคลน (Shortage Reasons) ที่แสดงผลบนเว็บไซต์ ได้แก่                 (1) ปรับปรุง/แก้ไขทะเบียน/GMP                        (2) ขาดแคลนวัตถุดิบทางยา (3) บริษัทยกเลิกการผลิต/นำเข้า              (4) การขนส่งสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด (5) ปริมาณความต้องการใช้ยาเพิ่มมากขึ้น        (6) เรียกเก็บยาคืนจากท้องตลาด (7) อื่นๆ  

07/02/2566

     ตามหนังสือที่อ้างถึง คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลางได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในกรณีที่ยารายการใดที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยาอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนปรับปรุงราคากลางยา เพื่อกำหนดราคากลางยาใหม่ นั้น      เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติดังกล่าว คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยา โดยกองนโยบายแห่งชาติด้านยา ในฐานะฝ่ายเลขานุการจึงขอแจ้งประกาศรายการยาที่คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยาอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนปรับปรุงราคากลางยา ตามมติอนุกรรมการฯ ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2566 จำนวน 8 รายการ (รายละเอียดตามไฟล์แนบ) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้อ้างอิงในการจัดซื้อยาตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต่อไป 1. Aspirin (Acetylsalicylic acid) EC tab 300 mg 2. Benzatropine mesilate sterile sol 1 mg/1ml (2 ml) 3. Chlorpheniramine maleate syrup 2 mg/5 ml (60 ml) 4. Chlorpheniramine maleate tablet 4 mg 5. Metoclopramide hydrochloride 10 mg tablet 6. Paracetamol syrup 100 mg/1 ml (15 ml) 7. Salbutamol sulfate syrup 2 mg/5 ml (60 ml) 8. Sulfamethoxazole+Trimethoprim (Co-trimoxazole) oral suspension/syrup (200 mg+40 mg)/5 ml (60 ml)      จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

02/02/2566

ด้วยคณะกรรมการพัฒนาพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้ออกประกาศ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกาศ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ไปแล้วนั้น คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ได้จัดทำ (ร่าง) แนวทางกำกับการใช้ยา และ (ร่าง) แบบฟอร์มกำกับการใช้ยาในบัญชี จ (2) ตามประกาศข้างต้นแล้วเสร็จ รายละเอียดตามเอกสารแนบด้านล่างซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเสนอประธานกรรมการพัฒนาพัฒนาระบบยาแห่งชาติลงนามในประกาศฯ ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย กองนโยบายแห่งชาติด้านยาจึงขอประชาสัมพันธ์ให้กับกองทุนและสถานพยาบาลรับทราบเป็นข้อมูลในเบื้องต้น สำหรับแนวทางการเบิกจ่ายยานั้นให้เป็นไปตามที่แต่ละกองทุนประกาศกำหนด เอกสารแนบ (ส่วนที่ 2 จาก 2) 10. แนวทางการกำกับการใช้ยา mercaptamine (cysteamine bitartrate) เงื่อนไข nephropathic cystinosis 11. แบบฟอร์มกำกับการใช้ยา mercaptamine (cysteamine bitartrate) เงื่อนไข nephropathic cystinosis 12. แนวทางกำกับการใช้ยา sofosbuvir + velpatasvir และ ribavirin เงื่อนไขโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังทุกสายพันธุ์ ทั้งในผู้ป่วยที่มีหรือไม่มีการติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย 13. แบบฟอร์มกำกับการใช้ยา sofosbuvir + velpatasvir และ ribavirin เงื่อนไขโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังทุกสายพันธุ์ ทั้งในผู้ป่วยที่มีหรือไม่มีการติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย สำหรับเอกสารแนบส่วนที่ 1 คลิกที่นี่

26/01/2566

อ้างถึง  1. หนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ 1015/ว401 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2565            2. หนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ 1015/ว525 ลงวันที่ 19 กันยายน 2565            3. หนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ 1015/ว529 ลงวันที่ 22 กันยายน 2565            4. หนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ 1015/ว529 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565            5. หนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ 1015/ว793 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2565                ตามหนังสือที่อ้างถึง คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยา โดยกองนโยบายแห่งชาติด้านยา ในฐานะฝ่ายเลขานุการ แจ้งรายการยาที่คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยาอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนปรับปรุงราคากลางยาที่มีปัญหาจัดซื้อ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อยา โดยอ้างอิงราคาที่ได้มาจากการสืบราคาจากท้องตลาด ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้ออกประกาศคณะกรรมการฯ เรื่อง กำหนดราคากลางยา ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ส่งผลให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อยาไม่ได้ โดยอ้างอิงราคาที่ได้มาจากการสืบราคาจากท้องตลาดเพื่อให้การจัดซื้อยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยาโดยกองนโยบายแห่งชาติด้านยา ในฐานะฝ่ายเลขานุการ จึงขอยกเลิกหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น และขอแจ้งประกาศรายการยาที่คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยาอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนปรับปรุงราคากลางยาที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ จำนวน 26 รายการ (รายละเอียดตามไฟล์แนบ 1) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้อ้างอิงในการจัดซื้อยา ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ. 2560 ต่อไป  

25/01/2566

     ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดราคากลางของยา ฉบับนี้ ได้แก้ไขปรับปรุงราคากลางยา จากประกาศฉบับเดิม (ฉบับลงวันที่ 6 มิถุนายน 2565) จำนวน 104 รายการ โดยมีรายการยาที่มีรายงานปัญหาการจัดซื้อ จำนวน 8 รายการ ดังต่อไปนี้      1. Amoxicillin trihydrate + Potassium clavulanate dispersible tab 875 mg + 125 mg      2. Carmellose sodium(carboxymethylcellulose) eye drop 5 mg/1 ml (10 ml)      3. Olopatadine hydrochloride eye drop 1 mg/1 ml (5 ml)      4. Phenylephrine hydrochloride  eye drop 100 mg/1 ml (10 ml)      5. Povidone-iodine sol 10% (30 ml)      6. Povidone-iodine sol 10% (450 ml)      7. Povidone-iodine sol 10% (4.5 litre)      8. Sulodexide cap 250 lsu      และปรับปรุงเพิ่มเติมราคากลางยาของยากลุ่มที่มีการผูกขาดจำนวน 96 รายการ ได้แก่ รายการยาในกลุ่มที่ 45 กลุ่มยา Antihistamines for Systemic Use ลำดับที่ 16 – 25, ยาในกลุ่มที่ 55 กลุ่มยา Antipsoriatics for systemic use ลำดับที่ 9 – 11, รายการยาในกลุ่มที่ 80.1 กลุ่มยา Water soluble iodinated contrast, รายการยาในกลุ่มที่ 80.2 กลุ่มยา Drug use for interventional radiology, รายการยาในกลุ่มที่ 80.3 กลุ่มยา Magnetic resonance contrast media, รายการยาในกลุ่มที่ 88 กลุ่มยา Drugs used in vestibular disorders, รายการยาในกลุ่มที่ 89 กลุ่มยา Antimigraine preparations  และรายการยาในกลุ่มที่ 90 กลุ่มยา Anti-acne preparations ดังปรากฏตามที่แนบท้ายประกาศฯ ฉบับนี้      สำหรับรายการยาอื่นๆ ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาปรับปรุงราคากลางยา ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการกำหนดราคากลางยาที่คณะกรรมการฯ กำหนด

24/01/2566

     คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชีวัคซีนหลักแห่งชาติ อยู่ระหว่างการเปิดรับแบบเสนอวัคซีนเพื่อปรับปรุงบัญชีวัคซีนหลักแห่งชาติ รอบปี พ.ศ.2565-2567 ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16.30 น. โดยมีขั้นตอนการยื่นแบบเสนอวัคซีน ดังนี้ 1. กรอกแบบเสนอวัคซีนเพื่อปรับปรุงบัญชีวัคซีนหลักแห่งชาติ      1. ผู้เสนอจากหน่วยงานภาคเอกชน download แบบเสนอวัคซีนที่นี่      2. ผู้เสนอจากหน่วยงานภาครัฐ download แบบเสนอวัคซีนที่นี่ 2. จัดส่งแบบเสนอวัคซีนที่กองนโยบายแห่งชาติด้านยา อาคาร 4 ชั้น 5 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในวัน และเวลาราชการ โดยปิดรับแบบเสนอยาวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16.30 น. โดย      • แบบฟอร์ม EV1 ให้ส่งเป็น hard copy และ electronic file (CD/DVD)      • แบบฟอร์ม EV2 (เฉพาะผู้เสนอจากหน่วยงานภาคเอกชน), EV3, EV4 และเอกสารอ้างอิง ให้ส่งเฉพาะ electronic file (CD/DVD) หมายเหตุ  • เปิดรับการยื่นแบบเสนอวัคซีนที่กองนโยบายแห่งชาติด้านยาเท่านั้น (ไม่รับการยื่นเสนอทาง online)  • หากเอกสารที่ส่งกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วนเพียงพอหรือไม่ถูกต้อง คณะอนุกรรมการฯ สงวนสิทธิ์ไม่รับพิจารณาแบบเสนอวัคซีนนี้  • สามารถศึกษาเอกสารชี้แจง แนวทางการเสนอวัคซีนเพื่อปรับปรุงบัญชีวัคซีนหลักแห่งชาติ ได้จาก Link นี้  • กรณีมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ให้สอบถามทางอีเมล nlev.fda@gmail.com Header Image by Freepik

20/01/2566

            ด้วยคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยา เพื่อปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการมอบหมาย โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการติดต่อประสานงานกับผู้รับอนุญาตผลิต/นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร ตามข้อมูลการติดต่อที่ผู้รับอนุญาตฯ แจ้งไว้กับกองนโยบายแห่งชาติด้านยา และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง นั้น            เพื่อให้การติดต่อประสานงานระหว่างคณะอนุกรรมการฯ และผู้รับอนุญาตผลิต/นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้อง กองนโยบายแห่งชาติด้านยา จึงขอความร่วมมือจากท่านแจ้งรายชื่อ และข้อมูลการติดต่อสื่อสารของผู้ประสานงานที่เป็นปัจจุบัน ในแบบฟอร์มแจ้งรายชื่อผู้ประสานงานตาม QR Code ท้ายหนังสือ ทั้งนี้ ขอให้ส่งเป็นไฟล์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มา ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566            จึงเรียนมาเพื่อโปรดให้ความร่วมมือจัดส่งรายชื่อผู้ประสานงาน ภายในระยะเวลาที่กำหนดต่อไปด้วย จะเป็นพระคุณ             Link แบบฟอร์มแจ้งรายชื่อผู้ประสานงาน : https://forms.gle/A2YmqVGwVd3Ks8BY8

17/01/2566

          ตามที่กองนโยบายแห่งชาติด้านยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการการบริหารจัดการแก้ไขปัญหายาขาดแคลนภายใต้โครงการสร้างความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ในภาวะฉุกเฉิน ได้พัฒนาความร่วมมือร่วมกับผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำสั่งยาแผนปัจจุบัน ในการเฝ้าระวังปริมาณการสำรองยาในประเทศผ่านระบบการเฝ้าระวังรายการยาและเวชภัณฑ์ยา (Stockpile 3) ที่ทางกองนโยบายแห่งชาติด้านยาได้พัฒนาขึ้น ซึ่งมีการดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากการขาดแคลนยาในสถานการณ์ฉุกเฉิน และแก้ไขปัญหายาขาดแคลนได้อย่างทันท่วงที            เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน กองนโยบายแห่งชาติด้านยา       มีการพัฒนาระบบรายงานและปรับปรุงกรอบรายการยาติดตามและเฝ้าระวัง จำนวน 78 รายการ  จึงขอความอนุเคราะห์ท่านส่งสรุปรายงานข้อมูลปริมาณยาคงคลัง ทุกสิ้นเดือนของเดือนก่อน และรายงานข้อมูลทุกวันที่ 1 ของเดือนถัดไป โดยเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ธันวาคม 2565 ผ่านแอพพลิเคชั่น  Stockpile 3   ดังรายละเอียดตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 1) และ 2) ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยประการใด โปรดติดต่อประสานงานทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ drugshortages.th@gmail.com เท่านั้น โดยขอยืนยันว่าข้อมูลที่ได้รับจะนำไปวิเคราะห์ปริมาณยาคงคลังในภาพรวมของประเทศ และจะไม่เปิดเผยต่อบุคคลอื่นเว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนเท่านั้น             จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วย จะเป็นพระคุณ 

12/01/2566

        ตามที่กองนโยบายแห่งชาติด้านยาได้มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการยาขาดแคลนแบบบูรณาการ โดยให้สถานพยาบาลซึ่งเป็นผู้ใช้ยา และบริษัทยาทั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้าแจ้งสถานการณ์การขาดแคลนยามายังกองนโยบายแห่งชาติด้านยา ซึ่งเป็นหน่วยงานในการประสาน รับเรื่อง ตรวจสอบข้อมูล พิจารณาแนวทางแก้ไข ประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งติดตามและเฝ้าระวังปัญหาการขาดแคลนยาในประเทศ                      ในการนี้ กองนโยบายแห่งชาติด้านยา จึงขอประชาสัมพันธ์รายการยาที่มีปัญหาขาดแคลนรายเดือน ณ พฤศจิกายน 2565  จำนวน 26 รายการ เป็นรายการการยาที่อยู่ในสถานะยังขาดแคลน (Currently in shortage) จำนวน 17 รายการ เป็นยาที่อยู่ในสถานะแก้ไขเสร็จแล้ว (Resolved) จำนวน 9 รายการ ยาขาดแคลนที่ประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ หมายถึง ยาที่มีความจำเป็นและส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันปริมาณ Supply ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ยาและ/หรือไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาในการกลับมาจำหน่ายเป็นปกติได้ สาเหตุการขาดแคลน (Shortage Reasons) ที่แสดงผลบนเว็บไซต์ ได้แก่                 (1) ปรับปรุง/แก้ไขทะเบียน/GMP                        (2) ขาดวัตถุดิบทางยา (3) บริษัทยกเลิกการผลิต/นำเข้า              (4) มีปัญหาด้านการขนส่ง  (5) ปริมาณความต้องการใช้ยาเพิ่มมากขึ้น        (6) เรียกเก็บยาคืนจากท้องตลาด (7) อื่นๆ

10/01/2566

        ด้วยคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยาในการประชุมครั้งที่ 4/2565 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 มีมติเห็นชอบต่อหลักเกณฑ์ ขั้นตอน แนวปฏิบัติ และกรอบรายการยา ในการจัดทำราคากลางยา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งได้นำไปรับฟังความคิดเห็นต่อผู้เกี่ยวข้องภาคเอกชนเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้สอดคล้องตามขั้นตอนการกำหนดราคากลางยา ประธานอนุกรรมการฯ จึงเห็นควรให้แจ้งเวียนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบต่อไป เพื่อให้การดำเนินการจัดทำราคากลางยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กองนโยบายแห่งชาติด้านยาจึงเห็นควรแจ้งหลักเกณฑ์ ขั้นตอน แนวปฏิบัติ และกรอบรายการยาในการจัดทำราคากลางยา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตามมติคณะอนุกรรมการฯ รายละเอียดตาม QR Code และ link ท้ายหนังสือ จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและแจ้งผู้เกี่ยวข้องต่อไปด้วย จะเป็นพระคุณ   LinK : http://ndi.fda.moph.go.th/drug_price/detail/21

27/12/2565