ทั้งหมด

     ด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบต่อนโยบายแห่งชาติด้านยาและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ.2563-2565 และได้กำหนดเป้าหมายให้มีฐานข้อมูลด้านยาสำคัญ ครบถ้วน ที่เข้าถึงง่าย เป็นปัจจุบันถูกต้อง น่าเชื่อถือ สำหรับประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง      คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาฉลากยาและข้อมูลยาสำหรับประชาชน จึงได้ดำเนินการคัดเลือกรายการยาที่มีปริมาณการใช้มากในสถานพยาบาล มาจัดทำข้อมูลวิชาการเบื้องต้นสำหรับฉลากยาเสริมในสถานพยาบาล อันประกอบด้วย ชื่อสามัญทางยาในรูปภาษาไทยและข้อมูลคำเตือนหรือข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้ จำนวน 500 รายการ รวมทั้ง ได้จัดทำแนวทางการกำหนดวันสิ้นสุดการใช้ (Beyond-Use Date) ผลิตภัณฑ์ยา ยาแบ่งบรรจุและยาเตรียม ในการจัดทำข้อมูลฉลากยา เพื่อให้สถานพยาบาล รวมถึงร้านขายยา หรือบุคลากรทางการแพทย์ ใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับอ้างอิงในการจัดทำฉลากบรรจุยาให้มีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของประชาชน และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นมาตรฐานต่อไป        Disclaimer :      ทั้งนี้ ข้อมูลฉลากเสริมนี้เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการทำงาน ไม่สามารถทดแทนการให้คำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้จ่ายยาได้ และ เนื่องจากข้อมูลคำเตือนหรือข้อควรระวังหรือข้อห้ามใช้ ที่มีความสำคัญอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ยาและสถานการณ์ ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องเป็นผู้พิจารณานำข้อมูลไปปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสม โดยสามารถอ้างอิง Patient Information Leaflet ฉบับเต็ม หรือข้อมูลวิชาการอื่นๆเพิ่มเติม การระบุคำเตือนให้กับประชาชน ให้พิจารณาโดยใช้หลักการจัดการความเสี่ยง ควรคัดเลือกเฉพาะรายการที่มีความจำเป็น มีจำนวนการเตือนที่เหมาะสมโดยไม่มากเกินไปจนเกิดความกังวลและไม่ใช้ยา รวมถึงพิจารณาความเหมาะสมจากบริบทของอุปกรณ์เครื่องพิมพ์ ขนาดของฉลาก และขนาดตัวอักษร

16/12/2565

       ตามที่กองนโยบายแห่งชาติด้านยาได้มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการยาขาดแคลนแบบบูรณาการ โดยให้สถานพยาบาลซึ่งเป็นผู้ใช้ยา และบริษัทยาทั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้าแจ้งสถานการณ์การขาดแคลนยามายังกองนโยบายแห่งชาติด้านยา ซึ่งเป็นหน่วยงานในการประสาน รับเรื่อง ตรวจสอบข้อมูล พิจารณาแนวทางแก้ไข ประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งติดตามและเฝ้าระวังปัญหาการขาดแคลนยาในประเทศ                      ในการนี้ กองนโยบายแห่งชาติด้านยา จึงขอประชาสัมพันธ์รายการยาที่มีปัญหาขาดแคลนรายเดือน ณ พฤศจิกายน 2565  จำนวน 20 รายการ เป็นรายการการยาที่อยู่ในสถานะยังขาดแคลน (Currently in shortage) จำนวน 16 รายการ เป็นรายการยาที่อยู่ในสถานะแก้ไขเสร็จแล้ว (Resolved) จำนวน 4  รายการ ยาขาดแคลนที่ประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ หมายถึง ยาที่มีความจำเป็นและส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันปริมาณ Supply ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ยาและ/หรือไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาในการกลับมาจำหน่ายเป็นปกติได้ สาเหตุการขาดแคลน (Shortage Reasons) ที่แสดงผลบนเว็บไซต์ ได้แก่                 (1) ปรับปรุง/แก้ไขทะเบียน/GMP                        (2) ขาดวัตถุดิบทางยา (3) บริษัทยกเลิกการผลิต/นำเข้า              (4) มีปัญหาด้านการขนส่ง  (5) ปริมาณความต้องการใช้ยาเพิ่มมากขึ้น        (6) เรียกเก็บยาคืนจากท้องตลาด (7) อื่นๆ  

09/12/2565

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2565  ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกองนโยบายแห่งชาติด้านยา ได้จัดประชุมการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบยาของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570 โดยมี         นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการประชุม และมอบให้ท่านนายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม รวมทั้ง ผศ.ดร.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ร่วมให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนปฏิบัติการ การประชุมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อนำร่างแผนปฏิบัติการฯ ตัวชี้วัด  กลวิธีและมาตรการ เฉพาะยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมและร่วมพัฒนาให้เกิดความมั่นคงด้านยาและการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยา และยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนากลไกเข้าถึงยาถ้วนหน้า กลไกราคายา สมเหตุผล  มาสร้างความเข้าใจและหารือทิศทางการดำเนินงานร่วมกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการฯ จากการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และองค์กรภาคประชาชน 45 หน่วยงาน รวมจำนวนกว่า 70 คน เพื่อร่วมกันพัฒนาสู่การมีระบบยาที่มั่นคง บนพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนายา ประชาชนเข้าถึงยาคุณภาพอย่างทั่วถึงและปลอดภัย จำนวนผู้เข้าชม      

01/12/2565

คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ได้ออกประกาศ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2565 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 และประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยกองนโยบายแห่งชาติด้านยา ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ จึงขอเชิญผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจศึกษารายละเอียด และ download ประกาศดังกล่าวได้ทาง link ด้านล่างนี้ จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน หมายเหตุ ปัจจุบันประกาศทั้ง 2 ฉบับได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง http://ndi.fda.moph.go.th/ndi_news_detail/index/310 และ http://ndi.fda.moph.go.th/ndi_news_detail/index/311)  ภาพจาก Freepik

30/11/2565

ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติได้ออกประกาศ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 โดยประกาศดังกล่าวมีรายการยาเพิ่มใหม่ จำนวน 5 รายการ ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั้น บัดนี้ ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 274 ง หน้า 90 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จึงขอเชิญผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจศึกษารายละเอียด และ download เอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้ทาง link ด้านล่างนี้  จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

30/11/2565

ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติได้ออกประกาศ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2565 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 โดยประกาศดังกล่าวมีรายการยาเพิ่มใหม่ จำนวน 6 รายการ คัดออก จำนวน 1 รายการ และปรับปรุงรายการยาเดิม (และปรับปรุงแนวทางกำกับการใช้ยาแนบท้ายประกาศ) จำนวน 5 รายการ ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั้น บัดนี้ ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2565 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 274 ง หน้า 82 ถึง 89 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 จึงขอเชิญผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจศึกษารายละเอียด และ download เอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้ทาง link ด้านล่างนี้ ทั้งนี้ สรุปรายการยาที่มีการปรับปรุงจากประกาศบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 อยู่ระหว่างการดำเนินการ จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

26/11/2565

กองนโยบายแห่งชาติด้านยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จัดประชุมชี้แจงการเปิดรับแบบเสนอยาแผนปัจจุบันเพื่อปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ รอบปี พ.ศ.2565-2567 (ไม่รวม vaccine) ให้หน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ ราชวิทยาลัย/สมาคม/ชมรมทางการแพทย์ และองค์กรภาคประชาชนที่สนใจมีส่วนร่วมในการเสนอยาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาบัญชียาหลักแห่งชาติ บ่ายวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อาคาร 4 ชั้น 6 กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจง “แนวทางการเสนอยาเพื่อปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ” โดยมีกองนโยบายแห่งชาติด้านยา ในฐานะฝ่ายเลขานุการอนุกรรมการฯ ชี้แจงขั้นตอนการเปิดรับแบบเสนอยาผ่านระบบ online ต่อหน่วยงานภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ ราชวิทยาลัย/สมาคม/ชมรมทางการแพทย์ และองค์กรภาคประชาชนที่สนใจได้มีส่วนร่วมในการเสนอยา ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมประชุมกว่า 180 คน (ทั้ง onsite และ online) นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ในรอบนี้ได้มีการปรับการทำงานให้มีช่องทางและกระบวนการพิจารณายาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนขึ้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการคัดเลือกยาและตอบสนองต่อปัญหาสาธารณสุขได้ทันท่วงที และร่วมตอบคำถามเชิงนโยบายให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบถึงทิศทางในการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติรอบปัจจุบัน สำหรับการเปิดรับการยื่นแบบเสนอยาแผนปัจจุบันฯ รอบปี พ.ศ.2565-2567 ทางช่องทาง online นี้มีกำหนดเปิดรับตั้งแต่ วันนี้จนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 เวลา 23.59 น. ทั้งนี้สามารถศึกษารายละเอียดการเสนอยาเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/NLEM2022 ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง การเปิดรับแบบเสนอยาแผนปัจจุบันเพื่อปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ รอบปี พ.ศ.2565-2567 (ไม่รวม vaccine) http://ndi.fda.moph.go.th/ndi_news_detail/index/307 ข่าวกองนโยบายแห่งชาติด้านยา (11 พฤศจิกายน 2565)

12/11/2565

การเปิดรับแบบเสนอยาแผนปัจจุบันเพื่อปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ รอบปี พ.ศ.2565-2567 (ไม่รวม vaccine)                         คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ อยู่ระหว่างการเปิดรับแบบเสนอยาแผนปัจจุบันเพื่อปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ รอบปี พ.ศ.2565-2567 (ไม่รวม vaccine) ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2565 เวลา 23.59 น.  โดยมีขั้นตอนการยื่นแบบเสนอยา ดังนี้    1.ตรวจสอบสถานะของยาที่ท่านต้องการยื่นแบบเสนอยา ว่าเป็นรายการยาค้างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ในรอบปี พ.ศ. 2562-2564 หรือไม่ ตรวจสอบที่นี่   หากมีสถานะเป็นยาค้างการพิจารณา ไม่ต้องยื่นแบบเสนอยาใหม่ในรอบนี้    2.กรอกแบบเสนอยาแผนปัจจุบันเพื่อปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ         1.ผู้เสนอจากภาคเอกชน Download แบบเสนอยาที่นี่          2.ผู้เสนอจากภาครัฐ องค์กรวิชาชีพ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Download แบบเสนอยาที่นี่    3.ลงทะเบียนเข้าใช้งานเว็บไซต์ยื่นแบบเสนอยาที่นี่  เพื่อขอรหัส PIN สำหรับ login ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยรหัส PIN จะถูกส่งให้ท่านทาง e-mail ภายในวันที่ 7 ธันวาคม 2565    4.Login เข้าเว็บไซต์ยื่นแบบเสนอยา เพื่อ upload file แบบเสนอยาที่กรอกเรียบร้อยแล้ว พร้อมกรอกข้อมูลการยื่นเสนอยา  โดยปิดรับแบบเสนอยาวันที่ 29 ธันวาคม 2565 เวลา 23.59 น. หมายเหตุ ระบบจะออกเลขรับให้ท่านโดยอัตโนมัติ จึงจะถือว่าการยื่นแบบเสนอยาเสร็จสมบูรณ์ โปรดจดเลขรับดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานในการอ้างอิง เปิดรับการยื่นแบบเสนอยาทางช่องทาง online เท่านั้น (ไม่รับการยื่นเสนอที่กองนโยบายแห่งชาติด้านยา) หากเอกสารที่ส่งกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วนเพียงพอหรือไม่ถูกต้อง คณะอนุกรรมการฯ สงวนสิทธิ์ไม่รับพิจารณาแบบเสนอยานี้ สามารถศึกษาเอกสารการประชุมชี้แจง แนวทางการเสนอยาเพื่อปรับปรุงบัญชียาหลักแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ได้จาก Link นี้  กรณีมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ให้สอบถามทางอีเมล nlem.fda@gmail.com จำนวนผู้เข้าชม 

10/11/2565

       ตามที่กองนโยบายแห่งชาติด้านยาได้มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการยาขาดแคลนแบบบูรณาการ โดยให้สถานพยาบาลซึ่งเป็นผู้ใช้ยา และบริษัทยาทั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้าแจ้งสถานการณ์การขาดแคลนยามายังกองนโยบายแห่งชาติด้านยา ซึ่งเป็นหน่วยงานในการประสาน รับเรื่อง ตรวจสอบข้อมูล พิจารณาแนวทางแก้ไข ประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งติดตามและเฝ้าระวังปัญหาการขาดแคลนยาในประเทศ                     ในการนี้ กองนโยบายแห่งชาติด้านยา จึงขอประชาสัมพันธ์รายการยาที่มีปัญหาขาดแคลนรายเดือน ณ ตุลาคม 2565  จำนวน 17 รายการ เป็นรายการการยาที่อยู่ในสถานะยังขาดแคลน (Currently in shortage) จำนวน 15 รายการ เป็นรายการยาที่อยู่ในสถานะแก้ไขเสร็จแล้ว (Resolved) จำนวน 2 ยาขาดแคลนที่ประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ หมายถึง ยาที่มีความจำเป็นและส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันปริมาณ Supply ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ยาและ/หรือไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาในการกลับมาจำหน่ายเป็นปกติได้ สาเหตุการขาดแคลน (Shortage Reasons) ที่แสดงผลบนเว็บไซต์ ได้แก่                 (1) ปรับปรุง/แก้ไขทะเบียน/GMP                        (2) ขาดวัตถุดิบทางยา (3) บริษัทยกเลิกการผลิต/นำเข้า              (4) มีปัญหาด้านการขนส่ง  (5) ปริมาณความต้องการใช้ยาเพิ่มมากขึ้น        (6) เรียกเก็บยาคืนจากท้องตลาด (7) อื่นๆ

03/11/2565

ประกาศรับสมัครทีมวิจัยเพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของรายการยาที่เสนอเพื่อบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ รอบปี พ.ศ. 2565-2567           เนื่องด้วยคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ภายใต้คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ รอบปี พ.ศ. 2565-2567 มีมติเห็นชอบให้มีการเปิดรับสมัครทีมวิจัยที่สังกัดหน่วยงานภาครัฐ เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของรายการยาที่ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานฯ และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นกลาง คณะทำงานฯ ได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกทีมวิจัยและแนวทางการดำเนินงานวิจัยดังนี้ เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกทีมวิจัย 1. เป็นผู้ที่ทำงานสังกัดหน่วยราชการ หรือ หน่วยงานของรัฐ หรือ หน่วยงานในกำกับของรัฐ หรือ องค์การที่ไม่แสวงหากำไร 2. ในทีมวิจัยต้องมีนักวิจัยอย่างน้อย 1 คน ที่เป็นผู้มีประสบการณ์ทำงานวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และ/หรือการประเมินผลกระทบด้านงบประมาณ และมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีผู้ทบทวน อย่างน้อย 1 เรื่อง 3. ในระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ นักวิจัยต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมกับรายการยาที่จะประเมิน ตามที่“เกณฑ์จริยธรรมในการจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2565” กำหนดไว้ แนวทางการดำเนินงานวิจัย ในกรณีที่ทีมวิจัยได้รับมอบหมายให้ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของรายการยาที่นักวิจัยไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม ทีมวิจัยจะต้องดำเนินงานวิจัยโดยยึดหลักการทำงานดังต่อไปนี้ เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยเป็นไปตามมาตรฐานการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ 1. นำเสนอโครงร่างวิจัยต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ คณะทำงานเศรษฐศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อนเริ่มงานวิจัย 2. ทำการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยอ้างอิงระเบียบวิธีวิจัยตามคู่มือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับประเทศไทย ฉบับที่ 1, 2 และ 3 (ฉบับที่ 3 จะมีการเผยแพร่หลังจากผ่านการรับรองจากคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขฯ และคณะ อนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ) ที่ผ่านการรับรองจากคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ 3. ผลการวิจัยจะต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพงานจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นผู้ทบทวนทั้งภายในและภายนอก 4. ปรับแก้ไขผลการวิจัยตามความเห็นของผู้ทบทวน และนำเสนอผลการศึกษาต่อคณะทำงานเศรษฐศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อพิจารณาภายหลังจากการตรวจสอบคุณภาพเป็นที่เรียบร้อย 5. จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์เป็นภาษาไทย   “หากท่านหรือหน่วยงานของท่านสนใจทำการวิจัยเพื่อพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ โปรดกรอกใบสมัคร พร้อมแนบประวัติย่อของท่านและทีมวิจัยของท่านมาที่ nlem.econ@gmail.com  สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขจะเป็นผู้ทำการคัดเลือกและตอบกลับท่าน เมื่อได้รับรายการยาที่ต้องทำการประเมินจากคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ”   ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร 02-590-7155   จำนวนผู้เข้าชม 

02/11/2565