ใช้ยาสมเหตุผล
ด้วยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีนโยบายในการเผยแพร่ฉลากและเอกสารกำกับยาในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ทางเว็ปไซต์ โดยลดการใช้ในรูปแบบเอกสารประกอบการขึ้นทะเบียนตำรับยาและเป็นข้อมูลยาสำหรับประชาชนและบุคคลากรทางการแพทย์ ดังปรากฎไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2566 เรื่อง แนวทางการพิจารณาทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบันที่ยื่นคำขอโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ หัวข้อ การแสดงฉลากและเอกสารกำกับยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงได้หารือร่วมกับเครือข่ายผู้ประกอบการและดำเนินการนำร่องการเผยแพร่เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็ปไซต์ https://ndi.fda.moph.go.th (NDI) มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ได้มีข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับแผนการเผยแพร่ฉลากและเอกสารกำกับยาในเว็ปไซต์ https://ndi.fda.moph.go.th แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก เดือนเมษายน – ตุลาคม 2567 ให้ผู้รับอนุญาตยาที่มีความประสงค์จะเผยแพร่ฉลากและเอกสารกำกับยาในเว็ปไซต์ NDI ดำเนินการดังนี้ 1.จัดทำหนังสือถึงกองนโยบายแห่งชาติด้านยาเพื่อขอสิทธิ์ผู้เข้าใช้งานเว็ปไซต์ (ตัวอย่างตามเอกสารแนบ 1) พร้อมเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ตัวอย่างหนังสือตามเอกสารแนบ 1) ส่งมายังอีเมล์ nlem.druglabeling@gmail.com 2.ผู้มีสิทธิ์ใช้งานสามารถดำเนินการเผยแพร่ฉลากและเอกสารกำกับยาในเว็ปไซต์ NDI ด้วยตนเอง ขั้นตอนการปฏิบัติ รายละเอียดตามเอกสารที่แนบ 2 ทั้งนี้ สิทธิ์ใช้งานในระบบในช่วงแรกจะสิ้นสุดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงที่ 2 ช่วงที่ 2 ผู้รับอนุญาตที่ประสงค์จะเผยแพร่ฉลากและเอกสารกำกับยาในเว็ปไซต์ ให้ดำเนินการผ่านระบบข้อมูลของกองยาที่พัฒนาขึ้น หลังจากนั้น ฉลากและเอกสารกำกับยาจะนำเข้าสู่ ในเว็ปไซต์ NDI เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระบบข้อมูลของกองยากำลังอยู่ระหว่างพัฒนาและตรวจสอบ โดยจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งเมื่อระบบพร้อมใช้งาน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้รับอนุญาตทุกท่านรับทราบทั่วถึงกัน
(ร่าง) แนวทางการดำเนินงานพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในชุมชน ความปลอดภัยจากการใช้ยาในชุมชน มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย ได้แก่ ผู้ใช้ยา ผู้สั่งใช้ยาผู้ผลิต การกระจายยา และการกำกับดูแลตามกฎหมายยา จากการทบทวนงานวิจัยในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องพบว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ใช้ยาขาดความรู้ที่ถูกต้อง มีความเชื่อที่ผิดๆ และที่สำคัญมีแหล่งจำหน่ายยาที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายกระจายอยู่ทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะทำงานพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและปลอดภัยในชุมชน (RDU Community) ภายใต้การทำงานของคณะทำงานพัฒนาระบบเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/โรงพยาบาล ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางการดำเนินงานพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในชุมชนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานในชุมชน ที่จะต้องมีความเชื่อมโยงกันระหว่าง 5 กิจกรรมหลัก (5 key activities) อย่างเป็นระบบ
เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย พ.ศ. 2559 และแนวปฏิบัติ (Ethical Criteria for Medicinal Drug Promotion of THAILAND) เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กลางของประเทศที่ทุกภาคส่วนสามารถนำไปประยุกต์ใช้หรือขยายเพิ่มเติม และเพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมธรรมาภิบาลในสถานพยาบาลและการดำเนินการของผู้ประกอบวิชาชีพโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการขายยา ในกระบวนการจัดทำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย จนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี คณะทำงานฯ จึงขอขอบคุณ 1. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยมี ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภาเป็นประธาน และคณะทำงานส่งเสริมจริยธรรมและธรรมาภิบาลว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาโดยมี พญ.จริยา แสงสัจจา เป็นประธาน ที่นำพาให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด 2. เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ที่ได้จัดทำร่างแนวทางปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมฯ สำหรับบุคลากรในสถานพยาบาล เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาของคณะทำงานฯ และคณะอนุกรรมการฯ 3. ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ช่วยเผยแพร่เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทยในวารสารยาวิพากษ์ 4. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขานุการอย่างเข้มแข็ง รวบรวม สรุปข้อมูลในการจัดทำเกณฑ์จริยธรรม และสนับสนุนการประสานงานต่างๆเพื่อให้กระบวนการจัดทำเกณฑ์จริยธรรมฯเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะทำงานฯ หวังว่าเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมให้เกิดธรรมาภิบาลของระบบยาต่อไป คณะทำงานส่งเสริมจริยธรรม และธรรมาภิบาลว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา
มาตรการควบคุมยาและปรับประเภทยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ ระยะที่ ๑ ตามมติคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาการปรับประเภทยาต้านจุลชีพ ๑. สถานการณ์เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ด้วยมีหลักฐานทางวิชาการชี้ว่า มีการนำยาต้านจุลชีพมาใช้ในมนุษย์โดยไม่มีข้อบ่งชี้หรือใช้อย่างไม่ ถูกต้องอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance: AMR) ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อสุขภาพ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับประเทศและระดับโลก โดยจากสถานการณ์เชื้อจุลชีพดื้อยาในประเทศไทย พบผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาจำนวน ๘๘,๐๐๐ ราย โดย ๑ ใน ๓ ของผู้ป่วยกลุ่มนี้เสียชีวิต ประกอบกับสถานการณ์ ปัจจุบันผู้ป่วยวัณโรคของประเทศไทยเป็น ๑ ใน ๑๔ ประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง พบผู้ป่วยดื้อยา หลายขนานรุนแรง (XDR-TB) เป็นจำนวน ๑๐% ของกลุ่มผู้ป่วยดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) ส่งผลต่อ ระยะเวลาการรักษาที่นานขึ้นและภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น คิดเป็น ๑.๒ ล้านบาทต่อราย ๒. กรอบรายการยาที่พิจารณา ครอบคลุมยาต้านจุลชีพทุกชนิด และจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานโดยเริ่มระยะที่ ๑ ที่ รายการยาต้านแบคทีเรียทุกรายการ ได้แก่ ยาในกลุ่มยาต้านวัณโรค (ชนิดรับประทานและชนิดฉีด) และยาในกลุ่มยาต้านจุลชีพชนิดฉีดก่อน ๓. มาตรการกฎหมายที่จะนำมาใช้ในการจัดการความเสี่ยงและการควบคุมยาเพื่อป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา ดำเนินการโดยการปรับประเภทยาและเงื่อนไขการกระจายยา เพื่อควบคุมการกระจายยาและจำหน่ายยา โดยปรับสถานะของยาจากยาอันตรายเป็นยาควบคุมพิเศษ รวมทั้งกำหนดช่องทางการจำหน่ายให้ผู้รับอนุญาตผลิตยาหรือผู้รับอนุญาตนำหรือสั่งยา ต้องปฏิบัติโดยมีรายละเอียดแต่ละกลุ่มและรายการยา ตามเอกสาร ๑ก และ เอกสาร ๑ข ๔. การรับฟังความเห็นต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้จัดประชุมชี้แจงเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับสถานะ และกำหนดช่องทางการจำหน่ายยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์ระยะที่ ๑ กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สมาคม วิชาชีพต่าง ๆ กรมควบคุมโรค สมาคมเภสัชกรรมชุมชน ชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย บริษัทยาที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจเข้าร่วมประชุมจากหลาย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรอบด้านในการแสดงความคิดเห็น สำนักยาจึงเปิดรับฟัง ความคิดเห็นฯ โดยสามารถดาวน์โหลดและกรอกแบบแสดงความคิดเห็นฯ ได้จากช่องทางดังนี้ ๑. https://goo.gl/v4D1LY ๒. เว็บไซต์ National Drug Information http://ndi.fda.moph.go.th/ ๓. google survey และเมื่อท่านกรอกแบบแสดงความคิดเห็นฯ เรียบร้อยแล้ว กรุณาส่งกลับมายัง email: drugreclass.fda@gmail.com หรือผ่านช่องทาง google survey ตามลิงค์ในเว็บไซต์ ภายในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2561 เวลา 9.00 น. ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 เป็นประธานพิธีเปิดประชุม โครงการประชุมขับเคลื่อน RDU-AMR ที่อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย โรงพยาบาลลำพูน โดย ผอ.โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ประธานคณะทำงานขับเคลื่อน Drug & Din เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวรายงานการขับเคลื่อน Drug&Din ของเขตสุขภาพที่ 1 โดยมีทีมสาธารณจังหวัดลำพูน นำโดย นพ.สสจ ลำพูน ผอ. รพ.ลำพูน ให้การต้อนรับ และร่วมรณรงค์ประกาศเจตนารมย์ใช้ถุงผ้าแทนถุงหิ้วพลาสติก ของ รพ. และ รพ.สต. ทุกแห่ง และตัวแทนภาคประชาชนมอบถุงผ้าสนับสนุนโยบาย 1,020 ถุง ในโอกาสนี้ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 1. ได้มอบนโยบายและบรรยายพิเศษเป้าประสงค์และกลยุทธ์ขับเคลื่อน RDU-AMR ของเขตสุขภาพที่ 1 ท่ามกลางผู้ร่วมประชุมจาก 8 จังหวัด ร่วม 250 คน
ขอเชิญเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชน เพื่อพัฒนาระบบบริการข้อมูลสารสนเทศที่เป็นกลางสำหรับประชาชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ขอเชิญเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดทำเอกสารกำกับยาสำหรับประชาชน เพื่อพัฒนาระบบบริการข้อมูลสารสนเทศที่เป็นกลางสำหรับประชาชน ในวันที่ 1-2 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เวลา 08.00-16.30 น. ณ โรงแรมไมด้า จังหวัดนนทบุรี ในการนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงขอแจ้งรายละเอียดการประชุม ดังนี้ 1. กำหนดการประชุมตาม 2. หนังสือเชิญวิทยากรตาม 3. หนังสือเชิญผู้เข้าร่วมประชุมตาม 4. แบบตอบรับวิทยากรตาม 5. แบบตอบรับผู้เข้าประชุมตาม และหากมีข้อสงสัยหรือประสงค์จะสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มนโยบายแห่งชาติด้านยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โทร 02 590 7155
ท่านสามารถ Download เอกสารประกอบการประชุมได้ คลิกที่นี่ ตามที่คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยคณะทำงานพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาการเรียนการสอนบุคลากรสุขภาพด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ประจำปี 2561 ในวันพุธที่ 20 มิถุนายน – ศุกร์ที่ 22 มิถุนายน 2561 เวลา 08.30-16.30 น. ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจต่อเทคนิคการสอนและการออกข้อสอบ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอนระหว่างครูผู้สอนสถาบันต่างๆ รวมถึงแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออย่างต่อเนื่องและเกิดการรับรู้ในวงกว้าง สำนักยาจึงขอเชิญอาจารย์ผู้สอนเรื่องการใช้ยาสมเหตุผล และอาจารย์ที่สนใจ คลิกที่นี่เพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมปฏิบัติการดังกล่าว ภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2561 หมายเหตุ: 1. ผู้เข้าประชุมสามารถเข้าร่วมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา (หนังสือขออนุมัติบุคลากรในสังกัดเข้าร่วมประชุม) 2. ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เข้าประชุมเบิกจากต้นสังกัด
วันที่ 2 พฤษภาคม 2561 เวลา 9.30 - 16.30 น. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเรื่อง การพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาในเขตสุขภาพ ครั้งที่ 2/2561 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อหารือการดำเนินการการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา (RDU-AMR) ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านสาธารณสุข ด้านบริการที่เป็นเลิศ (service excellence) ต่อเนื่องมาจากปี 2560 การประชุมครั้งที่ 2 เน้นแลกเปลี่ยนและทบทวนการดำเนินงานจากผลการดำเนินงาน กระบวนการหลักและปัจจัยแห่งสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเป็นการแลกเปลี่ยนกับทีมส่วนกลาง และพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งทีมวิชาการที่จะสนับสนุนการดำเนินการในพื้นที่ต่อไป
วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 บุคคลากร "รพ.หาดใหญ่" หัวใจ RDU มาที่ตลาดสดกลางเมืองเพื่อนำเสนอสิ่งดีๆ เพื่อสุขภาพแก่พี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงานเพื่อตระหนักถึงการใช้ยาปฏิชีวนะและผลกระทบจากยาตกค้างในอาหารสัตว์ เป็นที่มาของเชื้อโรคดื้อยา
วันที่ 29 มีนาคม 2561 เวลา 9.00 น. นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอเชียงของ(พชอ.) และภาคีเครือข่ายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในอำเภอเชียงของประกอบด้วย หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ในอำเภอเชียงของได้ร่วมลงนามทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือ “การขับเคลื่อนอำเภอต้นแบบการใช้ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างสมเหตุผลและปลอดภัย” ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ภายใต้คำขวัญที่ว่า "เชียงของร่วมใจ ใช้ยาสมเหตุผล"