แนวทางการดำเนินงานพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในชุมชน

          ความปลอดภัยจากการใช้ยาในชุมชน มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย ได้แก่ ผู้ใช้ยา ผู้สั่งใช้ยาผู้ผลิตการกระจายยา และการกำากับดูแลตามกฎหมายยา จากการทบทวนงานวิจัยในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องพบว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ใช้ยาขาดความรู้ที่ถูกต้อง มีความเชื่อที่ผิดๆ และที่สำคัญมีแหล่งจำหน่ายยาที่ไม่เหมาะสมและผิดกฎหมายกระจายอยู่ทั่วไป ผลจากการสำรวจร้านค้าปลีกในระดับตำบลภายใต้โครงการส่งเสริมการใช้ยาปลอดภัยในชุมชนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในปี 2560 จำนวน 4,128 ร้าน (23 จังหวัด) และปี 2561 จำนวน 887 ร้าน (28 จังหวัด) พบว่า ร้านค้าปลีกจำนวนมากขายยาอันตราย เช่น ยาปฏิชีวนะรวมทั้งสเตียรอยด์ที่เป็นยาควบคุมพิเศษ นอกจากนี้ยังพบผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารสเตียรอยด์ เช่น ยาแผนโบราณ ยาสมุนไพร ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ยาผง ยาเม็ด ยาลูกกลอน ยาน้ำ ยาต้ม ยาหม้อ กษัยเส้น ประดง เป็นต้น การดำเนินการเชิงรุกในชุมชนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประชาชนให้มีทักษะในคุ้มครองตนเองและครอบครัวในการใช้ยาอย่างสมเหตุผลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

          กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะทำงานพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลและปลอดภัยในชุมชน (RDU Community) ภายใต้การทำงานของคณะทำงานพัฒนาระบบเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/โรงพยาบาลได้ร่วมกันจัดทำแนวทางการดำเนินงานพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในชุมชนขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานในชุมชน ที่จะต้องมีความเชื่อมโยงกันระหว่าง 5 กิจกรรมหลัก (5 key activities) อย่างเป็นระบบการดำเนินงานอาจจะเริ่มจากการจัดทำระบบข้อมูลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านยาในโรงพยาบาล (Proactive Hospital based Surveillance) เพื่อส่งข้อมูลให้กับชุมชนนำไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เกิดการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านยาเชิงรุกในชุมชน (Active Community based Surveillance) ผ่านกระบวนการมีส่วนรวมจากทุกภาคส่วนในชุมชน (Community Participation) ให้ประชาชนและชุมชนมีความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Literacy) รวมถึงการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในภาคเอกชน (Good Private Sector) โดยการดำเนินการดังกล่าวควรจะมีผู้รับผิดชอบทั้งในสถานบริการสุขภาพและชุมชนในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต ที่เรียกว่า “RDU Coordinator” ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะและรับผิดชอบการบริหารจัดการด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล รวมทั้งแก้ไขปัญหาเชิงระบบทั้งในสถานบริการสุขภาพ และในชุมชน

          คณะทำงานฯ หวังว่าแนวทางการดำเนินงานพัฒนาระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในชุมชนฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ ในการพัฒนางานราวมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

ไฟล์แนบ